สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว งานศิลปะอาจถูกจำกัดอยู่ในแพลตฟอร์มอย่างงานวาดหรือรูปวาดด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากสิ่งนั้นสามารถสะท้อนเรื่องราวและตัวตนของศิลปินหรือผู้สร้างได้ แน่นอนว่าสิ่งนั้นก็ย่อมเป็นศิลปะเช่นกัน
เช่นเดียวกับศิลปะทุกรูปแบบ การถ่ายภาพเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการสร้างงานศิลปะที่เริ่มต้นง่าย และสามารถพัฒนาฝีมือในระยะยาวได้ไม่ยาก ซึ่งหากใครกำลังเป็นมือใหม่เพิ่งหัดจับกล้องล่ะก็ วันนี้ ALIVE UNITED จะขอแชร์เคล็ดลับการถ่ายรูประดับมือโปรอย่าง Lens Flare ที่จะช่วยเพิ่มมิติให้กับงานภาพได้หากเลือกใช้อย่างถูกจังหวะ และพอดีกับเรื่องราวที่ต้องการจะถ่ายทอด
รู้จัก Lens Flare กันก่อน
เคยไหม? เวลาถ่ายรูปย้อนแสงแล้วดันมีเส้นแสงเกิดขึ้นในภาพ และทำให้องค์ประกอบอื่น ๆ ถูกเงาตกกระทบจนดำและเสียสมดุลไปหมด หากศิลปินคนไหนเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ไม่แน่ว่าอาจเจอเข้ากับแสงแฟร์เข้าให้แล้ว
Lens Flare หรือ Flare หรือบางคนก็อาจเรียกว่า ‘แสงแฟร์’ นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรูปถ่ายจากการที่แสงวิ่งเข้าเลนส์กล้องและสะท้อนไปมาในชิ้นเลนส์ ซึ่งหากกดชัตเตอร์แล้ว แสงที่สะท้อนกันอยู่นี้จะไปตกกระทบที่เซนเซอร์รับภาพในกล้องจนทำให้ภาพเกิดเป็นวงแสง หรือเป็นเส้นตรงของแสงขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นจากการถ่ายภาพย้อนแสงที่มีความเข้มสูงมาก ๆ เช่น การถ่ายย้อนแสงจากดวงอาทิตย์ หลอดไฟที่มีกำลังไฟสูง หรือแหล่งกำเนิดแสงอื่น ๆ
รู้ไว้ใช่ว่า! จริง ๆ แล้วการถ่ายภาพย้อนไปยังแสงที่มีความเข้มมาก ๆ นั้นสามารถทำให้ปรากฏการณ์นอกจาก Lens Flare ได้อีกด้วย โดยปรากฏการณ์นี้จะมีชื่อเรียกว่า ‘Ghost’ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากแสงแฟร์ตรงที่ Ghost จะสะท้อนแสงออกมาเป็นรูปร่างของแหล่งกำเนิดแสง เช่น หากเป็นดวงอาทิตย์ก็จะมีลักษณะกลม ๆ ลอยแยกออกมา แต่ถ้าเป็นไฟเหลี่ยม หรือหลอดไฟก็ให้รูปเหลี่ยม ๆ ตัด ๆ ลอยออกมาแทน |
Myth or Fact: Lens Flare ทำให้ภาพเสียจริงหรือเปล่า?
อย่างไรก็ดี หากลองถ่ายรูปไปสักช่วงเวลาหนึ่ง ช่างภาพมือใหม่หลาย ๆ คนก็อาจเคยได้ยินว่าการมีแสงแฟร์ในภาพนั้นไม่ใช่เรื่องดี หากมีหลาย ๆ ภาพติดก็ทำให้ภาพที่ได้เป็นภาพเสีย และไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเข้าใจเช่นนี้มีความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น จริงอยู่ว่า Lens Flare นั้นทำให้ภาพมีองค์ประกอบที่ไม่ต้องการเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเสี่ยงทำให้องค์ประกอบอื่น ๆ ที่ต้องการจะสื่อความหมายมืดลง หรือมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจนเหมือนที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ดี การมี Lens Flare อยู่ในภาพไม่ได้แปลว่าภาพเสียเสมอไป เพราะถ้าหากศิลปินเลือกใช้แต่พอดี มีการกำหนดองค์ประกอบให้ชัดเจนก่อนที่จะใช้แสงแฟร์ หรือเลือกใช้เป็นเคล็ดลับการถ่ายภาพที่ต้องการสร้างเรื่องราวให้น่าค้นหา และจังหวะในการเล่าเรื่องที่ดีมากยิ่งขึ้น การมีแสงแฟร์ในภาพก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่ช่วยให้ศิลปินสร้างงานศิลปะที่มีความหมายมากยิ่งขึ้นได้ แถมยังดูน่าค้นหา และมีเอกลักษณ์มากกว่าการไม่มีแสงแฟร์ก็เป็นได้
ข้อดี – ข้อควรระวัง
ถึง Flare จะเป็นเคล็ดลับการถ่ายภาพที่ศิลปินระดับโลกเลือกใช้ แต่หากเลือกใช้โดยไม่พิจารณาให้ดีก่อน หรือเลือกใช้โดยไม่ได้วางแผน แสงแฟร์ที่ว่าดีก็อาจทำให้ภาพเสียได้โดยไม่รู้ตัว โดยเทคนิคการถ่ายภาพโดยใช้ Lens Flare นั้นจะมีข้อดี – ข้อควรระวังที่ศิลปินควรทราบ ดังนี้
ข้อดีของการใช้แสงแฟร์
- เพิ่มความสมจริงให้กับภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แท้จริงแล้วแสงแฟร์ที่เกิดขึ้นในภาพนั้นอาจเป็นภาพที่ตาของมนุษย์เห็นได้เช่นกัน ซึ่งหากเลือกใช้แสงแฟร์ที่พอดีจะยิ่งเชื่อมผู้ชมให้เข้าใจงานของเราได้ดียิ่งขึ้น โดยศิลปินอาจลองเลือกใช้ Radium: 120 Lens Flares in 4K สำหรับงานภาพและงานวิดีโอเพื่อลองหาแสงแฟร์มุมที่ใช่ดู - ช่วยสร้างอารมณ์ให้ผู้ชม ‘อิน’ กับงานภาพได้
รู้หรือไม่? แสงแฟร์นั้นสามารถช่วยกำหนดทิศทางอารมณ์ที่คนดูมีต่องานภาพของเราได้อีกด้วย โดยการเลือกใช้แสงแฟร์ที่พอดีในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะช่วยปรับอารมณ์ผู้ชมได้ เช่น หากเป็นภาพงานแต่ง หรือช่วงเวลาที่อบอุ่น การมีแสงแฟร์จะช่วยเพิ่มความโรแมนติกได้
ข้อควรระวังของการใช้แสงแฟร์
- ระวังสมดุลในรูปหาย
แสงแฟร์ในรูปที่มากเกินไปอาจทำให้องค์ประกอบของภาพไม่สมดุล ไม่มีจุดโฟกัส และอาจทำให้องค์ประกอบอื่น ๆ ในภาพมืดลง - เลือกจังหวะผิด งานภาพเปลี่ยนทันที
การเลือกใช้ Lens Flare ผิดจังหวะอาจทำให้ภาพดู ‘OFF’ โดยไม่ได้ตั้งใจ และทำให้คนดูไม่สามารถรับรู้ถึงความหมายที่ต้องการจะสื่อได้อย่างชัดเจน
ศิลปินจะสร้าง Lens Flare ในงานภาพได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ?
หากใครที่อ่านมาถึงจุดนี้แล้วรู้สึกว่าแสงแฟร์อาจไม่ตอบโจทย์กับความต้องการ ALIVE UNITED ขอแนะนำให้ทุกคนลองหา Hood Lens กันแสง หรือเลือกเลนส์ชนิดพิเศษหรือฟิลเตอร์คุณภาพสูงมาเพื่อป้องกันการเกินแสงแฟร์ หรือหากต้องการวิธีที่ง่ายกว่านั้น ศิลปินก็ควรเลือกถ่ายภาพในมุมที่ไม่ย้อนแสงเข้ม ๆ นั่นเอง
แต่หากศิลปินมือใหม่หรือมือเก๋าคนไหนต้องการอยากลองเคล็ดลับการถ่ายรูปโดยใช้แสงแฟร์เพิ่มเติม ALIVE UNITED ก็ขอแนะนำเทคนิคการใช้แสงแฟร์ง่าย ๆ ดังนี้
- แพลนองค์ประกอบภาพให้ชัดเจน จากนั้นจึงเลือกมุมที่ต้องการ Lens Flare ในภาพ ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยทำให้ศิลปินได้ความหมายที่ต้องการในภาพ และลดปัญหาองค์ประกอบ ‘OFF’ ไม่รู้ตัว
- ถอด Hood Lens และตัวป้องกันแสงออก จากนั้นค่อย ๆ ทดลองถ่ายภาพในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น ถ่ายย้อนแสง ช่วงเวลาที่มีแสงเข้ม ๆ หรือช่วงเวลาที่มีแสงธรรมชาติสวย ๆ จากนั้นลองใช้ Manual Focus เพื่อหามุมกับความชัดของแสงที่ต้องการ และค่อยลองใช้ Auto Focus เพื่อสร้างความแปลกใหม่
- ถ้าอยากได้ความแปลกใหม่ในภาพเพิ่ม เราขอแนะนำให้ศิลปินลองใช้เลนส์หลาย ๆ ประเภท หลาย ๆ ความกว้าง เพื่อให้ได้แสงแฟร์รูปแบบต่าง ๆ แต่ถ้าจะให้ดี ลองใช้เลนส์ F 1.4 กับ F 1.8 สลับกันดู
จบลงไปแล้วกับเทคนิคการใช้แสงแฟร์ที่ช่างภาพระดับโลกต่างเลือกใช้ จะเห็นได้ว่าทำได้ไม่ยาก และเริ่มทดลองได้ง่าย ๆ อีกด้วย ซึ่งหากใครอยากใช้แสงแฟร์เพื่อเพิ่มความหมายและเพิ่มความน่าค้นหาในงานล่ะก็ อย่าลืมเลือกใช้แต่พอดี และปรับให้เข้ากับความต้องการของตัวเองด้วยนะ แต่หากใครลองใช้เคล็ดลับการถ่ายรูปนี้แล้วก็สามารถนำมาแชร์ที่ ALIVE UNITED เพื่อให้ทั้งโลกได้รับรู้ถึงตัวตน และความคิดของเราด้วยนะ