ALIVE UNITED ขอแชร์! 3 เคล็ดลับการเลือกพาเลทสีระดับโลกที่ศิลปินน้อยคนจะรู้

เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า?

“ทำไมหนังหว่องสีสวยจัง”

“Wes Anderson ใช้พาเลทสีไหนทำ The Grand Budapest Hotel” 

“ทำไมหนัง Cult อย่าง Midsommar ถึงใช้พาเลทสีพาสเทล”

เพราะงานศิลปะถือเป็นพื้นที่อิสระเพื่อให้ทุกคนได้เป็นตัวเอง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เปิดกว้างเพื่อให้ผู้ชมได้เข้ามาสัมผัสและสร้างอารมณ์ร่วม รวมถึงทำความเข้าใจความหมายและตัวตนของศิลปินที่แอบซ่อนอยู่ในงานศิลปะชิ้นนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ การสร้างงานศิลปะจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวางองค์ประกอบภาพเพื่อสร้างความหมาย หรือการหาวิธีเพื่อสร้างช็อตของงานภาพให้ตราตรึงใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การเลือก ‘พาเลทสี’ เองก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นลายเซ็นต์ของศิลปินเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้าง ‘อารมณ์ที่ทรงพลัง’ เพื่อเปลี่ยน ‘งานภาพธรรมดา’ ให้กลายเป็น ‘งานศิลปะ’ ได้เหมือนกับงานของผู้กำกับชื่อดังที่กล่าวไปข้างต้น อีกทั้งพาเลทสีที่เป็นเอกลักษณ์ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ศิลปินเล่าเรื่องได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ต่อให้ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้นในสายงานศิลปะ หรือจะมีประสบการณ์ในการสร้างงานเพื่อสะท้อนตัวตนมากแค่ไหน แต่รู้หรือไม่? ว่าเราทุกคนก็สามารถสร้างพาเลทสีเพื่อบ่งบอกถึงตัวตน และสร้างอารมณ์ในงานภาพที่เป็นเอกลักษณ์ได้เช่นเดียวกับผู้กำกับชื่อดัง ซึ่งในวันนี้ ALIVE UNITED จะพาศิลปินทุกคนไปรู้จักกับ 3 เทคนิคพื้นฐานในการเลือกพาเลทสีให้เข้ากับงานภาพที่สามารถบ่งบอกถึงตัวตนของโดยไม่ทำให้คนรู้สึกว่า “งานของเราไปเหมือนกับงานของคนอื่น” แต่จะมีวิธีการอย่างไร เตรียมตัวและเปิดใจให้พร้อม แล้วตามมาเลย

3 เคล็ดลับการเลือกพาเลทสีระดับโลกที่น้อยคนจะรู้ - ALIVE UNITED

(ผลงานคุณ TAVEPONG P. – ALIVE ARTIST)

เข้าใจทฤษฎีสีกันก่อน (Color Theory in Film)

เพราะงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ล้วนเป็นเพียงแค่สีธรรมดาในจานสีมาก่อน เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า The Greatest Masterpieces Were Once Only Pigments on a Palette. ดังนั้น นอกจากจะใช้จินตนาการ และตัวตนแล้ว ศิลปินยังต้องรู้และเข้าใจถึงทฤษฎีสีที่ใช้ในงานภาพ หรือ Color Theory in Film ด้วย

Color Theory in Film หรือ Film Color Theory เป็นทฤษฎีการใช้สีในงานภาพเคลื่อนไหวที่เชื่อว่าการนำสีบางอย่างมารวมกัน หรือ การเลือกใช้เฉดสีบางเฉดสีบนวงล้อสีรวมกันสามารถสร้างเอฟเฟกต์งานภาพได้ ซึ่งเอฟเฟกต์นี้จะสามารถกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชมให้คล้อยตามไปกับงานภาพได้ อีกทั้งยังสามารถสะท้อนถึงมุมมองของศิลปินในการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างลงตัวอีกด้วย

นอกจากนี้ นักทฤษฎีเรื่องสียังเชื่อว่า สีแต่ละสีนั้นจะมีความหมายที่แตกต่างกันไป โดยเหตุผลเบื้องหลังความเชื่อนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ‘สีคือการรับรู้’ ประเภทหนึ่ง โดยเมื่อดวงตาของเราเห็นสี เส้นประสาทของดวงตาก็จะส่งข้อมูลเพื่อไปประมวลผลที่สมอง จากนั้นสมองของเราก็จะสร้างความหมาย รวมถึงสร้างอารมณ์ที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์

หากยังนึกภาพไม่ออกว่าแต่ละสีจะให้ความหมายที่แตกต่างกันอย่างไร ลองนึกถึงบรรยากาศในภาพยนตร์เรื่องโปรดดู แน่นอนว่าในบางครั้ง เราอาจเห็นผู้กำกับเลือกใช้สีโทนเย็นเพื่อสร้างบรรยากาศเศร้า หรือเพื่อสร้างบรรยากาศสยองขวัญ เหมือนอย่างในภาพยนตร์เรื่อง The Conjuring 2 (2016) หรือในหนังบางเรื่องที่เลือกใช้สีแดงหรือโทนสีร้อนในช่วงเวลาที่ต้องการสร้างความรู้สึกตื่นเต้น เร้าใจ หรือต้องการสร้างความรุนแรงในงานภาพ เช่นเดียวกับในภาพยนตร์เรื่อง Taxi Driver (1976) ที่เลือกใช้โทนสีร้อนเป็นหลัก หรือในบางครั้ง เราอาจเลือกใช้คู่สีที่ตัดกันเพื่อสร้างความย้อนแย้งและถ่ายทอดอารมณ์ที่รุนแรงเหมือนในหนังเรื่อง Kill Bill (2003) แต่ในบางกรณี เราก็อาจเห็นได้ว่า ผู้กำกับเลือกใช้โทนสีที่ใกล้เคียงกัน แต่ปรับความเข้มของสีใหม่เพื่อให้ดูขมุกขมัวเพื่อสร้างบรรยากาศที่สับสนและหลอนไปพร้อมกัน เช่นในหนังเรื่อง The Others (2001) ที่เคยทำและให้ผลลัพธ์ที่ดีมาแล้ว

รู้จัก 3 องค์ประกอบในการปรับสี

ไม่เพียงแต่สีที่แตกต่างกันเท่านั้น แม้แต่เฉดสีที่แตกต่างกัน ก็ยังให้ความหมายและอารมณ์ในงานภาพที่ต่างออกไปด้วย ซึ่งการจะปรับสีให้มีเฉดชวนให้คนดูรู้สึกว่า ‘หนังเรื่องนี้สีสวยมาก’ หรือ ‘งานภาพนี้มีสีที่น่าสนใจมาก’ ได้นั้น ศิลปินจำเป็นต้องเข้าใจถึง 3 องค์ประกอบในการปรับสี ซึ่งก็คือ Hue, Saturation และ Value นั่นเอง

1. Hue คืออะไร

Hue ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนแรกในการเลือกพาเลทสีในงานภาพเลยทีเดียว โดย Hue คือ วิธีการแบ่งสีแบบกว้าง ๆ โดยใช้เนื้อสีแท้ที่ยังไม่มีการปรับแต่งใด ๆ ทั้งสิ้น โดยสีในกลุ่มนี้มักจะเป็นสีตามคลื่นสเปกตรัมที่สะท้อนเข้าตาเราได้ ซึ่งประกอบไปด้วยสีแดง สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือ และสีส้ม แต่สีในส่วน Hue นี้จะไม่รวมสีขาว สีเทา และสีดำ

2. Saturation คืออะไร

Saturation คือค่าความอิ่มตัวของสีที่ไล่ระดับตั้งแต่สีที่อ่อนไปยังสีที่เข้มที่สุด ซึ่งการปรับค่า Saturation จะเป็นการเติมสีเทาลงใน Hue ที่เลือกเพื่อลดความสดใสและลดความอิ่มตัวของสีนั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ดี การปรับ Saturation ในบางครั้งก็อาจทำให้สีสว่างสดใสได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี หากเราเติมสีดำลงไปใน Hue ที่เลือกเราก็จะเรียกขั้นตอนนี้ว่าการ Shade แทน แต่หากเติมสีขาวลงไปก็จะเรียกว่าการ Tint นั่นเอง

3. Value คืออะไร

Value คือ น้ำหนักของสีที่มีคุณสมบัติที่เปลี่ยนไปตามน้ำหนัก ความอ่อน และความแก่ โดยการใช้ Value ในการสร้างพาเลทสีจะเป็นการเติมค่าน้ำหนักตั้งแต่ 1 หรือสีดำไปจนถึง 9 ซึ่งเป็นน้ำหนักของสีขาว ซึ่งเมื่อเราเลือก Hue สีที่ต้องการ และปรับ Saturation เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำสีดังกล่าวมาปรับ Value เพื่อเลือกเฉดที่แตกต่างกันได้ สุดท้าย เมื่อปรับทุกอย่างเรียบร้อยและได้เฉดสีที่ต้องการแล้ว ก็ให้นำเฉดสีแต่ละอันมาวางเทียบกันเพื่อสร้างเป็นพาเลทสีที่ต้องการนั่นเอง

เลือกวางพาเลทสีเพื่อปรับอารมณ์ผู้ชมได้อย่างไร?

ถึงการจับคู่สีและการสร้างพาเลทสีจะมีกฎที่ไม่ตายตัว และศิลปินก็ยังสามารถใช้จินตนาการในการสร้างได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แต่หากศิลปินคนไหนที่เพิ่งเลือกเดินเข้ามาในเส้นทางนี้ได้ไม่นาน ALIVE UNITED ขอแนะนำให้รู้จักกับ 4 วิธีในการเลือกคู่พาเลทสีง่าย ๆ ดังนี้

1. เลือกคู่สีตรงกันข้าม

หลายคนอาจมองว่าการจับคู่สีตรงข้ามหรือ Complementary Colors อาจทำให้รู้สึกถึงความขัดแย้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สีคู่ตรงข้ามกันอย่าง สีเขียว – สีแดง หรือ สีน้ำเงิน – สีเหลือง นั้นเป็นสีที่ช่วยเสริมความโดดเด่นซึ่งกันและกันอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งยังให้อารมณ์ที่รุนแรง และมีความโดดเด่นในตัวอีกด้วย

2. เลือกจับคู่ 3 สีที่อยู่ติดกัน

การจับคู่ 3 สีที่อยู่ติดกัน หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในชื่อของ Analogous Colors นั้นจะเป็นการเลือกสีใดสีหนึ่งเป็นหลักก่อน จากนั้นก็จะเลือกจับคู่สีที่อยู่ด้านซ้ายและด้านขวาเพื่อสร้างความกลมกลืน และความเป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งยังส่งเสริมสีหลักให้ดูโดดเด่นขึ้นไปอีกด้วย

3. เลือกจับคู่สีโดยการวางสามเหลี่ยมด้านเท่าไปยังวงล้อสี

Triadic Color เป็นเทคนิคในการเลือกคู่สี 3 สีเพื่อสร้างสมดุลให้กับสีในงานภาพ ซึ่งการจะเลือกสีได้นั้น ส่วนใหญ่แล้ว ศิลปินจะนำสามเหลี่ยมด้านเท่าไปวางยังใจกลางของวงล้อสีเพื่อให้คู่สีมีระยะห่างที่เท่ากัน จากนั้นให้เลือกสีที่อยู่ปลายด้านของสามเหลี่ยมเพื่อสร้างบรรยากาศที่สมดุล เช่น อาจเลือกจับคู่เป็นสีม่วง สีเขียว และสีส้ม หรืออาจเลือกปรับเป็นสีน้ำเงิน สีเหลือง และสีแดง เป็นต้น

4. เลือกจับคู่สีเพื่อสร้างจุดสนใจเพียงหนึ่งเดียว

แต่หากศิลปินคนไหนต้องการสร้างจุดสนใจเดียวให้กับภาพ โดยเฉพาะงานภาพนิ่งล่ะก็ รู้หรือไม่? เราเองก็สามารถเลือกใช้สีที่โดดเด่นเพียงสีเดียวเพื่อตัดกับพื้นหลังที่เป็นโทนสีเดียวกันทั้งหมดได้เช่นกัน เช่น เราอาจเลือกใช้สีฉูดฉาดอย่างสีเหลืองและแดงเพื่อเป็นการเน้นย้ำสิ่งที่ต้องการจะสื่อ แล้วให้พื้นหลังทั้งหมดเป็นสีเทา หรือสีขาวหลาย ๆ เฉดเหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง It (2017) และ Schindler’s List (1993) เป็นต้น

ง่าย ๆ เพียงเท่านี้ ศิลปินทุกคนก็สามารถสร้างพาเลทสีเพื่อถ่ายทอดความหมายและตัวตนผ่านงานภาพของตัวเองได้แล้ว อย่าลืมนำเทคนิคและเคล็ดลับที่ ALIVE UNITED นำมาฝาก ไปปรับใช้กับงานของตัวเองกันด้วย แต่หากต้องการสร้างผลงานที่ตราตรึงใจให้กับผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ สามารถมาร่วมถ่ายทอดตัวตนและความหมายของตัวเองกับเราได้ที่ ALIVE UNITED หรือคลิกที่นี่

ความคิดเห็น (0)

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*

แนะนำสำหรับคุณ

ALIVE คืออะไร? ทำความรู้จักกับพวกเรากัน

เรา คือ แพลตฟอร์มที่ให้บริการรูปแบบ Exclusive Gallery เดียวในประเทศไทยที่ให้ลูกค้าสามารถนำเนื้อหาภาพหรือวิดีโอ ไปใช้ในงานเพื่อการโฆษณา ประกอบบทความ และสื่อสารการทางการตลาดได้แบบถูกลิขสิทธิ์ เราเป็นคอลเลกชันคุณภาพระดับพรีเมียม

ความสมมาตร

ความสมมาตรกับภาพถ่าย ความเรียบง่ายที่ไม่ธรรมดา

กฎการถ่ายภาพเรื่องวางองค์ประกอบส่วนใหญ่ล้วนมาจากงานศิลปะยุคคลาสสิกทั้งสิ้น เทคนิคเหล่านั้นที่ปรมาจารย์ด้านศิลปะใช้สร้างสรรค์ผลงานยังคงถูกใช้ในการถ่ายภาพตราบจนทุกวันนี้ เรื่องของความสมมาตรก็เช่นกัน

เบื้องหลังเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์ด้วย iPhone - ALIVE UNITED

เจาะลึก Tangerine (2015) หนัง Sundance ที่ถ่ายทำด้วย iPhone ทั้งเรื่อง

สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว การมีอุปกรณ์รุ่นใหม่ราคาสูงไว้ใช้งานอาจช่วยตอบโจทย์ความต้องการ และช่วยให้สร้างงานศิลปะได้เหมือนที่ใจปรารถนา แต่หากต้องการจะตอบคำถามด้านบนเกี่ยวกับความจำเป็นของอุปกรณ์ราคาแพงต่อคุณภาพ งานนี้ ALIVE UNITED ขอให้คำตอบว่า ‘ไม่เสมอไป’