ใช้ iPhone ถ่าย ก็พา Tangerine (2015) ไป Sundance ได้
การสร้างงานภาพคุณภาพสูงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แพงเท่านั้นหรือไม่?
สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว การมีอุปกรณ์รุ่นใหม่ราคาสูงไว้ใช้งานอาจช่วยตอบโจทย์ความต้องการ และช่วยให้สร้างงานศิลปะได้เหมือนที่ใจปรารถนา แต่หากต้องการจะตอบคำถามด้านบนเกี่ยวกับความจำเป็นของอุปกรณ์ราคาแพงต่อคุณภาพ งานนี้ ALIVE UNITED ขอให้คำตอบว่า ‘ไม่เสมอไป’ เพราะรู้หรือไม่? ในปีค.ศ. 2015 ที่ผ่านมานี้ Tangerine (2015) ได้เปิดตำนานบทใหม่ในเทศกาลภาพยนตร์ Sundance หรือ Sundance Film Festival ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์คุณภาพสูงทั้งเรื่องด้วยการใช้ iPhone ในการถ่ายทำ แถมยังเป็น iPhone 5s อีกด้วย ที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังให้ความรู้สึกเหมือนการถ่ายแบบ Street Video และเก็บรายละเอียดครบถ้วนทุกมุมมองเลยทีเดียว แต่หากใครสงสัยว่าแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้จะใช้เทคนิคอะไรในการสร้างงานภาพที่ทรงพลังจากโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว วันนี้ ALIVE UNITED จะมาเล่าให้ฟัง
รู้จักแอปพลิเคชัน FiLMiC Pro กันก่อน
แอปพลิเคชัน FiLMiC Pro ถือเป็นแอปพลิเคชันที่ศิลปิน รวมถึงผู้กำกับ Tangerine (2015) อย่าง Sean Baker เลือกใช้ เพราะไม่เพียงแต่จะมีราคาที่แสนคุ้มค่าเพียง 8 เหรียญ หรือราว 270 บาทเท่านั้น แต่แอปพลิเคชันนี้ยังให้ภาพถ่าย และภาพวิดีโอที่มีคุณภาพเทียบเท่ากล้องระดับมือโปรราคาเป็นแสนอย่าง Canon C300 และไม่แพ้คุณภาพของภาพจากกล้อง Sony FS100 เลยทีเดียว
ที่สำคัญ ตัวแอปพลิเคชันยังมาพร้อมกับฟังก์ชันที่ช่วยให้ศิลปินควบคุมทุกงานภาพได้อย่างมืออาชีพ อาทิ ควบคุมโฟกัสได้คมชัดเหมือนใช้กล้องราคาแพง ตลอดจนยังสามารถปรับรูรับแสง และอุณหภูมิสีในกล้องให้ตรงกับความต้องการได้ง่าย ๆ อีกด้วย โดยผู้กำกับอย่าง Sean Baker ยังเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การใช้แอปพลิเคชันนี้ร่วมกับกล้องของ iPhone 5s ยังให้คุณภาพของภาพที่สูงมาก และสามารถให้งานภาพที่รู้สึกเหมือนไม่ใช่วิดีโอธรรมดา แต่เป็นภาพยนตร์จริง ๆ
ประหยัดงบอุปกรณ์ด้วย Anamorphic Adapters และ Steadicam Smoothee
หากศิลปินคนไหนเคยเข้ากองถ่ายภาพยนตร์ หรือกองถ่ายภาพประเภทต่าง ๆ แน่นอนว่าหลาย ๆ คนก็คงจะได้เห็นถึงอุปกรณ์การถ่ายภาพยนตร์ชิ้นใหญ่ ๆ มากมายหลายชิ้น ทั้งกล้องถ่ายภาพ กล้องถ่ายวิดีโอ ไปจนถึงอุปกรณ์ปรับแสงต่าง ๆ แต่สำหรับการถ่ายภาพยนตร์อย่าง Tangerine (2015) นั้น Sean Baker เลือกใช้เลนส์ Anamorphic Adapters จาก Moondog Labs ซึ่งไม่เพียงแต่จะให้คุณภาพงานภาพที่สูงเทียบเท่าการใช้กล้องคุณภาพสูงเหมือนตามกองถ่ายเท่านั้น แต่เลนส์ตัวนี้เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้ Sean Baker เลือกถ่ายภาพยนตร์ทั้งเรื่องด้วย iPhone 5s อีกด้วย โดยหากใช้เลนส์ตัวนี้เข้ากับ iPhone เราก็จะได้ภาพที่มี Ratio 2.40:1 แทน 16:9 เหมือนการถ่ายทั่ว ๆ ไป
ไม่เพียงแต่จะมีตัวช่วยสำคัญอย่างเลนส์ Anamorphic Adapters เท่านั้น แต่ Sean Baker ยังมีตัวช่วยสำคัญอย่าง Steadicam Smoothee หรือมือถือโคลงสำหรับการถ่ายวิดีโอโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะมีน้ำหนักเบาแล้ว มือถือโคลงจาก Steadicam Smoothee ยังช่วยให้ได้ภาพที่นิ่งแม้จะถ่ายขณะเดิน วิ่ง หรืออยู่บนรถยนต์ก็ตาม
ความกล้าที่จะต่างของ Sean Baker
แน่นอนว่าภาพยนตร์อย่าง Tangerine (2015) ก็เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ใช้ Final Cut Pro ในการตัดต่อ และใช้เครื่องมือสร้างสีที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง DaVinci Resolve เพื่อทำให้งานภาพดูสวยแปลกตามากขึ้น แต่อย่างไรก็ยากที่จะปฏิเสธว่าบนโลกนี้มีผู้กำกับน้อยคนนักที่จะเลือกใช้ iPhone 5s เพียง 3 เครื่องในการถ่ายทำ
แต่สำหรับ Sean Baker นั้น การเลือกใช้ iPhone ในการถ่ายทำไม่เพียงแต่จะทำลายข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยากจะเข้าถึง และประหยัดงบประมาณสำหรับกองถ่ายไปได้ แต่การเลือกใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือยังช่วยให้เห็นมุมมองที่คนทั่วไปคุ้นชิน มองข้ามผ่าน รวมถึงมุมที่ไม่อาจสามารถมองเห็นได้ และยังช่วยเพิ่มอารมณ์ให้คนดูเข้าถึงพื้นที่ ตัวละคร และเรื่องราวได้ง่ายยิ่งขึ้น
ซึ่งสำหรับภาพยนตร์อย่าง Tangerine (2015) ที่ได้เข้าไปโลดแล่นอยู่ในเทศกาลภาพยนตร์อย่าง Sundance แล้ว แน่นอนว่าเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์ด้วย iPhone 5s นี้ไม่ได้เพียงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมและนักวิจารณ์ภาพยนตร์เท่านั้น แต่การเลือกใช้ iPhone และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในราคาสบายกระเป๋านี้ยังช่วยให้ผู้ชมเข้าใจ และเข้าถึงคนชายขอบอย่าง Sin-Dee และ Alexandra ผู้เป็นหญิงข้ามเพศขายบริการในเมืองใหญ่อย่าง Los Angeles ผ่านมุมมอง Street View ที่ให้ความรู้สึกแบบเรียลไทม์ที่น้อยคนนักจะได้เห็นภาพเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนเช่นกัน
จบลงไปแล้วกับเทคนิคการสร้างงานภาพ และเรื่องราวในภาพยนตร์ระดับ Sundance อย่าง Tangerine (2015) จากผู้กำกับ Sean Baker ซึ่ง ALIVE UNITED หวังว่าเคล็ดลับที่นำมาฝากนี้จะช่วยให้ศิลปินทุกคนเห็นถึงแนวทางการสร้างงานศิลปะที่เริ่มต้นง่าย ๆ โดยการใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเอง ซึ่งหากใครเคย หรือได้ลองสร้างงานศิลปะจากโทรศัพท์มือถือมาแล้ว อย่าลืมแวะมาแชร์ตัวตน ความคิดที่แสดงผ่านผลงานตัวเองกับ ALIVE UNITED ด้วยนะ