งานภาพ ที่เล่าเรื่องอย่างทรงพลังด้วย Mise-en-scène

งานภาพเล่าเรื่องได้ทรงพลังมากขึ้นด้วยการเลือกใช้ Mise-en-scène

คุณคิดอะไรอยู่ก่อนจะลงมือสร้างงานภาพ?

ศิลปินหลายคนอาจมองภาพผ่านเลนส์ไปเรื่อย ๆ เพื่อหาจังหวะที่ลงตัวที่สุด ก่อนที่จะกดชัตเตอร์สักคลิก ในขณะที่ศิลปินบางคนอาจชอบวาดภาพ และปล่อยให้ไอเดียไหลไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดงานภาพก็ออกมาแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร หรือในบางครั้ง ช่างภาพบางคนเลือกถ่ายวิดีโอจากมุมและเอฟเฟกต์ต่าง ๆ เพื่อหาการเล่าเรื่องที่บ่งบอกตัวตนมากที่สุด 

แต่ไม่ว่าศิลปินจะสร้างเรื่องเล่าผ่านภาพด้วยวิธีไหน หรืออยากให้ความหมายของงานภาพออกมาเป็นเช่นไร รู้หรือไม่? นอกจาก ‘ไอเดีย’ และ ‘จังหวะ’ แล้ว การเลือก Mise-en-scène ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยให้ศิลปินสร้างพลังให้งานภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วเทคนิคอ่านยาก ๆ ที่เรียกว่า Mise-en-scène นี้คืออะไร จะช่วยได้จริงไหม มาดูไปพร้อมกันได้เลย

งานภาพเล่าเรื่องได้ทรงพลังมากขึ้นด้วยการเลือกใช้ Mise-en-scène - ALIVE UNITED

รู้จัก Mise-en-scène กันก่อน

เคยสงสัยไหม? ทำไมงานภาพแต่ละชิ้นถึงให้ ‘อารมณ์’ และ ‘ความหมาย’ ที่ไม่เหมือนกัน

สำหรับคนที่ถ่ายภาพนิ่งและวาดภาพเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่คุ้นชินกับคำนี้มากนัก แต่สำหรับศิลปินที่ชื่นชอบการถ่ายวิดีโอ Mise-en-scène อาจเป็นคำที่เคยได้ยินและใช้อยู่จนคุ้นเคย โดย Mise-en-scène หรือที่อ่านว่า มิซ – ออง – แซน นั้นศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึงเทคนิคการจัดวางองค์ประกอบภาพสำหรับงานละครหรือภาพยนตร์ โดยการใช้ Mise-en-scène นั้นจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การจัดวางองค์ประกอบอย่างวัตถุในเฟรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะเป็นการออกแบบและจัดเรียงทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ชุดที่ใช้ในแต่เฟรม ตัวประกอบ ธีมของภาพ การใช้แสง การใช้กล้อง รวมไปถึงทิศทางการเล่าเรื่อง 

ซึ่งในงานภาพแต่ละชิ้นนั้น การออกแบบและเลือกใช้ Mise-en-scène ที่แตกต่างกันก็จะส่งผลให้ ‘อารมณ์’ และ ‘การสร้างความหมาย’ ของคนดูแตกต่างกันออกไป ลองคิดดูง่าย ๆ หากเราดูภาพยนตร์ของ Wes Anderson เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราก็อาจจะรู้สึกถึง ‘ความสวยที่ไม่สมจริง’ ได้จากงานที่ออกมา แต่ถ้าหากไปเลือกดูภาพยนตร์ของ Bong Joon-ho อย่าง Parasite (2019) เราก็จะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ของมนุษย์ที่เข้มข้นและดูสมจริงมากกว่า ซึ่งหากลองเปรียบเทียบดูแล้ว นอกจากเส้นเรื่องที่แตกต่างกัน ภาพยนตร์จากผู้กำกับแต่ละคนก็ออกมาคนแบบจากการเลือกใช้ Mise-en-scène ที่แตกต่างกันนั่นเอง

แล้ว Mise-en-scène ต่างจาก Composition ตรงไหน

หากได้อ่านมาถึงจุดนี้ ศิลปินหลาย ๆ คนคงอาจเกิดข้อสงสัยว่า แล้ว Mise-en-scène ต่างจาก Composition ที่ใช้ในงานภาพถ่ายตรงไหน โดย ALIVE UNITED ขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า จริง ๆ แล้ว Composition นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Mise-en-scène แต่ Composition จะเน้นไปที่การจัดวางวัตถุ นักแสดง และ Object ประเภทต่าง ๆ ในช็อตหรือเฟรมใดเฟรมหนึ่ง รวมถึงยังเป็นการควบคุมการเคลื่อนไหวของวัตถุต่าง ๆ ที่บอกไปด้วย แต่สำหรับ Mise-en-scène นั้นจะเป็นการควบคุมทั้งหมด และบอกว่าการจัดวาง Composition นั้นจะเน้นไปที่การเล่าเรื่องแบบใด

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ เหมือนการเขียนบทความ Mise-en-scène ก็คือ Outline ทั้งหมด ในขณะที่ Composition นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของ Outline หรืออาจจะเป็น Support ของ Outline ก็ได้นั่นเอง

จะเลือกใช้ Mise-en-scène ในงานภาพอย่างไร - ALIVE UNITED

จะเลือกใช้ Mise-en-scène ในงานภาพอย่างไร

ไม่เพียงแต่งานภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ หรือภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่ Mise-en-scène สามารถครอบคลุมไปยังงานภาพนิ่ง และภาพวาดได้เช่นเดียวกัน โดยจริง ๆ แล้ว หลักการใช้ Mise-en-scène นั้นไม่มีอะไรตายตัว แต่ถ้าหากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรก็สามารถใช้ Guideline นี้ค่อย ๆ ประกอบจิ๊กซอว์ความคิดของเรา และหา Mise-en-scène ที่ใช่ได้ โดยให้เริ่มต้นจาก

  • กำหนดธีม และ ความหมายที่ต้องการจะสื่อ

อย่างที่บอกไปว่า Mise-en-scène ก็เหมือน Outline ในงานเขียน แต่อย่าลืมว่างานเขียนทุกงานต้องมี Thesis Statement หรือใจความสำคัญก่อน ดังนั้น หากยังไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน ลองมาใช้เวลากับตัวเองสักพักก่อนเพื่อดูว่า งานภาพของเราต้องการจะสื่ออะไร มีธีมแบบไหน และอยากให้มีความหมายไปในทิศทางใด ซึ่งหากเลือกความหมายได้แล้ว เราจะไปสู่ขั้นตอนการใช้ ‘ภาพ’ เพื่อสร้างความหมายกัน

  • หาองค์ประกอบที่ใช่ และ พื้นที่ หรือ ‘Space’ ที่ชอบ

เมื่อได้ใจความสำคัญของภาพ และความหมายที่ต้องการจะสื่อแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาของการแบ่งพารากราฟในงานเขียน แต่สำหรับงานภาพนั้น เราจะมาเลือกองค์ประกอบและ ‘พื้นที่’ ของภาพเพื่อสร้างความหมายกันต่อ โดยการเลือกองค์ประกอบและพื้นที่นี้จะเน้นไปในการตอบโจทย์ว่า พื้นที่แห่งนี้จะใช้ ‘อะไร’ บ้างในการสร้างความหมาย โดยศิลปินอาจเลือกการจัดวางสิ่งของหรือ Composition เข้ามาช่วย รวมถึงการหามุมให้ช็อตและเฟรมต่าง ๆ 

  • ลองสร้าง ‘คน’ และ ‘เครื่องแต่งกาย’ เข้ามา หรือจะเป็นสิ่งของก็ได้

ถึงภาพศิลปะจะไม่ตายตัว แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีจุด ‘โฟกัส’ ที่มองเห็นและสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ โดยจุดโฟกัสนี้อาจจะเป็นได้ทั้ง ‘สิ่งของ’ หรือ ‘คน’ ก็ได้ แต่ถ้าหากเลือกใช้คน ลองกลับมานั่งคิดอีกรอบว่า แต่ละฉาก แต่ละเฟรม หรือแต่ละช็อต แต่ละคนควรจะใส่เครื่องแต่งกายอย่างไรเพื่อสร้างความหมายได้บ้าง เพราะอย่าลืมว่า งานคอสตูมก็เป็นเรื่องที่สำคัญและช่วยสร้างความหมายได้เช่นกัน

  • นำสิ่งที่สร้างขึ้นไปจัดไว้ในองค์ประกอบและ Space ที่กำหนด

เมื่อ Outline เริ่มดูเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว ทีนี้ก็ลองเอาทุกพารากราฟมารวมกันดูว่าได้ความหมายที่ต้องการไหม โดยศิลปินสามารถนำทุกองค์ประกอบมาลองใส่ใน Space ที่สร้างขึ้นเอาไว้ ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจรวมถึงการสร้าง Storyboard ด้วยก็ได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เรากลับมาทบทวนและสำรวจงานว่า จริง ๆ แล้ว ภาพที่ออกมานั้นตรงกับตัวตนและความหมายที่อยากสื่อหรือไม่นั่นเอง

  • ดูให้ดี จะ Blocking ยังไงให้โดน

และเมื่อลองนำทุกอย่างมารวมกันหมดทุกอย่างแล้ว ทีนี้ก็ถึงการเพิ่มสีสันและ ‘ความน่าสนใจ’ ให้กับงานภาพโดยการใช้ Blocking ซึ่งจริง ๆ แล้ว Blocking นั้นจะเป็นการกำกับงานภาพเคลื่อนไหวที่จะกำหนดว่า คนหรือวัตถุแต่ละอย่างต้องทำอะไรในเฟรมหรือช็อตนั้นบ้าง ซึ่งหากเป็นงานภาพนิ่งนั้น เราสามารถเพิ่มเสน่ห์โดยการใช้ Blocking เพื่อเพิ่ม Movement ให้ความนิ่งได้ เช่น อาจมีการเพิ่มการใช้สายตาของคนในภาพ หรือมี Body Movement บางอย่างเพื่อช่วยให้ช็อตหรือเฟรมนั้นน่าสนใจยิ่งขึ้น

  • จัดการการใช้แสง

แต่แค่การ Blocking อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องใช้ ‘แสง’ ให้เหมาะกับสถานการณ์ ความหมาย และอารมณ์ที่ต้องการจะสร้างด้วย โดยการใช้แสงไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน หรือข้อกำหนดตายตัว เพราะลองคิดดูง่าย ๆ ขนาดภาพยนตร์สุดแปลกอย่าง Midsommar(2015) ยังมีการใช้แสงจ้าตลอดทั้งเรื่องเพื่อสื่อถึงความ Cringe และสร้างความแปลกให้ไลน์หนังสยองขวัญที่เน้นแต่การใช้แสงน้อย ๆ ดังนั้น หากอยากได้ความหมายแบบไหนก็ให้ลองใช้แสงแบบนั้น

  • หาจังหวะ!

สุดท้าย เมื่อหาแสงและจัดวางทุกอย่างได้อย่างลงตัวทุกความต้องการของตัวเองแล้ว ทีนี้ก็เป็นการลงมือทำ ซึ่งการจะลงมือทำนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีฤกษ์ หรือต้องพึ่งพาดวงเสมอไป เพราะในบางครั้ง งานศิลปะที่ดี มีความหมายที่ลึกล้ำก็เกิดขึ้นจากความบังเอิญ และจังหวะเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ดังนั้น อย่ารีรอที่จะทดลอง Outline งานภาพนี้เพื่อสร้างภาพศิลปะที่สื่อได้ทั้งความหมาย อารมณ์ และตัวตนของเรา

อย่างไรก็ตาม จากข้างต้นทั้งหมด ALIVE UNITED ไม่ได้กำหนดว่า จริง ๆ แล้วศิลปินต้องทำตามขั้นตอนการสร้าง Mise-en-scène  อีกทั้งไม่ได้กำหนดตัวเลขกำกับหน้าว่าต้องทำขั้นตอนไหนก่อนหรือหลัง ดังนั้น ศิลปินทุกคนสามารถนำแนวทางเหล่านี้ไปเลือกปรับใช้ได้ในแบบที่ใช่และสะท้อนตัวตนออกมาได้มากที่สุด และเมื่อลงมือทำเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าเก็บตัวตนและ ‘แพสชัน’ ในการสร้างงานภาพเอาไว้คนเดียว มาเชื่อมต่อ ‘แพสชัน’ ของศิลปินไทยไปสู่สายตาชาวโลกกับพวกเรา ALIVE UNITED ได้แล้วที่นี่ 

ความคิดเห็น (0)

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*

แนะนำสำหรับคุณ

ALIVE คืออะไร? ทำความรู้จักกับพวกเรากัน

เรา คือ แพลตฟอร์มที่ให้บริการรูปแบบ Exclusive Gallery เดียวในประเทศไทยที่ให้ลูกค้าสามารถนำเนื้อหาภาพหรือวิดีโอ ไปใช้ในงานเพื่อการโฆษณา ประกอบบทความ และสื่อสารการทางการตลาดได้แบบถูกลิขสิทธิ์ เราเป็นคอลเลกชันคุณภาพระดับพรีเมียม

ความสมมาตร

ความสมมาตรกับภาพถ่าย ความเรียบง่ายที่ไม่ธรรมดา

กฎการถ่ายภาพเรื่องวางองค์ประกอบส่วนใหญ่ล้วนมาจากงานศิลปะยุคคลาสสิกทั้งสิ้น เทคนิคเหล่านั้นที่ปรมาจารย์ด้านศิลปะใช้สร้างสรรค์ผลงานยังคงถูกใช้ในการถ่ายภาพตราบจนทุกวันนี้ เรื่องของความสมมาตรก็เช่นกัน

เบื้องหลังเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์ด้วย iPhone - ALIVE UNITED

เจาะลึก Tangerine (2015) หนัง Sundance ที่ถ่ายทำด้วย iPhone ทั้งเรื่อง

สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว การมีอุปกรณ์รุ่นใหม่ราคาสูงไว้ใช้งานอาจช่วยตอบโจทย์ความต้องการ และช่วยให้สร้างงานศิลปะได้เหมือนที่ใจปรารถนา แต่หากต้องการจะตอบคำถามด้านบนเกี่ยวกับความจำเป็นของอุปกรณ์ราคาแพงต่อคุณภาพ งานนี้ ALIVE UNITED ขอให้คำตอบว่า ‘ไม่เสมอไป’